สมัครงานปลอดภัย กับ 7 วิธีจับโป๊ะงานปลอม!

- งานที่ดี ไม่มีเสียเงิน!
บริษัทเอกชนต่างๆ รวมถึงบริษัทจัดหางานที่ดีจะไม่ขอให้ผู้สมัครจ่ายเงินเพื่อเป็นการสมัครงาน ถ้าคุณโดนเรียกเก็บค่าสมัครเมื่อไหร่ให้คิดไว้ก่อนเลยว่านี่คือการหลอกลวง!
- อย่าเชื่อคำหวาน และงานที่ได้เงินง่าย
หากบริษัทสัญญาว่าจะให้เงินเดือนคุณสูงกว่าค่าแรงในตลาดของตำแหน่งงานนั้นๆจนน่าตกใจและต้องรีบคว้าไว้ โดยที่นายจ้างไม่ได้สนใจประสบการณ์แม้แต่นิดเดียว ก็มีแนวโน้มสูงที่จะเข้าข่ายหลอกลวง บริษัทที่ดีจะต้องให้ความสำคัญกับผู้สมัครที่เชื่อถือได้ผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอน รวมถึงการทดสอบทักษะที่จำเป็นต่างๆ
- อย่าสมัครในตำแหน่งที่มีเนื้อหางานคลุมเครือ
บริษัททั่วไปจะสนใจจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัติตรงกับที่นายจ้างกำลังค้นหา บริษัทไม่ต้องการที่จะเสียเงินมากมายรวมถึงเวลาไปกับการคัดกรองผู้สมัครที่ไม่ตรงปก นั่นคือเหตุผลที่ตำแหน่งงานว่างที่แท้จริงจะมีโครงสร้าง ชื่อตำแหน่งงาน หน้าที่ หรือ job description ที่ชัดเจนไว้ตั้งแต่ตอนประกาศรับ แต่งานที่หลอกลวงมักจะใช้วิธีการโฆษณาที่เกินจริงถึงผลตอบแทนเวอร์ๆ แต่เมื่อพยายามทำความเข้าใจถึงตำแหน่งที่ประกาศรับ กลับให้ข้อมูลที่งงๆ
- อย่าให้เอกสารสำคัญของคุณกับใคร
จุดประสงค์ของการหลอกลวงของมิจฉาชีพอาจไม่ใช่เพื่อขโมยเงินของคุณเสมอไป บางครั้งพวกโจรต้องการเข้าถึงข้อมูลหรือเอกสารสำคัญเพื่อนำไปขอสินเชื่อหรือปลอมแปลงหนังสือเดินทาง จงอย่าให้เอกสารตัวจริงเหล่านี้แก่ใครยึดไว้เป็นอันขาด หากบริษัทต้องการจริงๆ ให้เอาฉบับถ่ายเอกสารไปในวันสัมภาษณ์ และเซ็นกำกับจุดประสงค์ว่าพร้อมลงวันที่ว่า “ใช้สำหรับสมัครงานเท่านั้น”
- ระวังพวกบริษัทที่ไม่มีข้อมูลสาธารณะ
บริษัทที่เชื่อถือได้จะมีหมายเลขโทรศัพท์เบอร์ 02 และหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทสัญชาติใดก็ตาม แอนคอร์ขอแนะนำให้คุณตรวจสอบหมายเลขบนเว็บไซต์ของบริษัทในส่วนหน้าของข้อมูลการติดต่อ หรือบน Social Media องค์กร หากคุณไม่พบข้อมูลเหล่านี้บนโลกออนไลน์ ก็จะดูเหมือนว่าจะเป็นบริษัทปลอม
- สมัครงานผ่านแหล่งหางานที่เชื่อถือได้
ตรวจสอบตำแหน่งงานว่างบนเว็บไซต์ออนไลน์ยอดนิยม รวมถึงเว็บไซต์ของบริษัทจัดหางานชั้นนำอย่างเว็บไซต์ของแอนคอร์ www.ancor.co.th
- ไม่ยอมรับข้อเสนอจากงานที่เลี่ยงกฏหมาย
หากบริษัทเสนอการจ้างงานนอกระบบ อาทิ การรับเงินเดือนผ่านซอง จงอย่าหาทำ! งานแบบนี้จะไม่มีการคุ้มครองใดๆ ในทางกฏหมาย และนายจ้างอาจจะเล่นตุกติกกับคุณได้ทุกเมื่อ อาทิ จ่ายเงินไม่ครบ จ่ายเงินล่าช้า หรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ที่คุณควรจะได้ตามกฏหมาย อย่างเช่น ห้ามลาป่วย หรือทำงานเกินวันละสิบหรือสิบสองชั่วโมง เป็นต้น