6 วิธีลาออกอย่างมืออาชีพ
การลาออกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และคงไม่มีใครอยากมีประสบการณ์ลาออกบ่อยๆ อย่างไรก็ดีจงจำไว้ว่าคนที่เหลืออยู่ในบริษัท จะจำว่าคุณนั้นออกไปแบบไหน เพราะฉะนั้นจงทำทุกอย่างให้ราบรื่นที่สุด ใช้เวลาที่เหลือให้คุ้มค่าและสร้างภาพจำที่ดีให้กับตัวคุณเอง ด้วยขั้นตอนการลาออกอย่างมืออาชีพ 6 ข้อนี้
1 ให้เหตุผลที่ฟังแล้วสมเหตุสมผล
แน่นอนว่าการลาออกนั้นฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างานของคุณจะต้องซักถามถึงเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ จงตอบไปตรงกับความเป็นจริง อาทิเช่น อยากเปลี่ยนสายงาน, ได้รับออฟเฟอร์ที่ดีกว่า, ปัญหาเรื่องการเดินทางหรือสุขภาพ ฯลฯ แต่ถ้าหากคุณมีปัญหาในที่ทำงานหรือกับเพื่อนร่วมงานแล้วล่ะก็ ให้พูดซะว่างานปัจจุบันของคุณมันติดขัดอย่างไรโดยที่ไม่ต้องไปกล่าวหาหรือพาดพิงคนอื่นโดยไม่จำเป็น และอย่าลืมว่าเหตุผลของคุณควรจะเป็นเหตุผลเดียวกันไม่ว่าจะตอบใครก็ตาม
2 แจ้งหัวหน้างานเป็นคนแรก
อย่าเพิ่งเล่าให้เพื่อนร่วมงานของคุณฟังแม้จะสนิทกันขนาดไหนก็ตาม คงไม่ใช่เรื่องที่ดีหากหัวหน้างานของคุณจะได้ยินว่าคุณจะลาออกจากคนอื่น ในวันที่คุณคิดทบทวนอย่างละเอียดแล้วว่าจะไม่ไปต่อ ให้ไปแจ้งกับหัวหน้างานหรือ Direct Manager ของคุณเป็นคนแรก หลังจากที่ผ่านขั้นตอนการพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยๆ เลือกบอกกับเพื่อนร่วมงานที่คุณสนิทสนม
3 ลาออกเป็นการส่วนตัว
ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ก่อนหรือหลังเทรนด์การทำงานแบบ Hybrid หรือ Work from Home สิ่งที่คุณควรจะทำก็คือ ไปลาออกเป็นการส่วนตัวกับหัวหน้างาน พยายามหลีกเลี่ยงช่องทางโทรศัพท์ หรืออีเมล์ คุณทำงานมาด้วยกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผ่านเรื่องราวต่างๆ มามากมาย แน่นอนว่าอีกฝ่ายก็คงอยากจะสอบถามและพูดคุยกับคุณแบบเป็นการส่วนตัวถึงการลาออกครั้งนี้
4 เขียนใบลาออกให้เป็นเรื่องเป็นราว
ในวันที่คุณตัดสินใจแจ้งลาออก คุณควรเขียนใบลาออกอย่างเป็นทางการ หลายบริษัทอาจมีแบบฟอร์มเฉพาะ หรือคุณอาจจะลองเตรียมมาเองก็ได้ สิ่งนี้จะเป็นเหมือนการบอกกล่าวอย่างเป็นทางการในจุดประสงค์ของคุณ รวมถึงหลักฐานว่าคุณได้แจ้งความต้องการในการลาออกแล้วจริงๆ โดยในเนื้อหาควรระบุ ชื่อ ตำแหน่ง วันที่เขียน เหตุผลที่จะลาออกสั้นๆ คำขอบคุณต่อบริษัท และลายเซ็นต์ของคุณ จากนั้นยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหลังจากที่คุณได้แจ้งกับหัวหน้างานแล้ว
5 ให้เวลาบริษัทและทีมของคุณในการปรับตัว
หลายๆ บริษัทในประเทศไทยอาจจะกำหนดช่วงเวลาในการแจ้งลาออกไว้ที่ 30 วัน หรือ 1 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณ และการพูดคุยกับหัวหน้างานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลด้วย อย่างไรก็ตามจงให้เวลาทั้งทีมและบริษัทในการปรับตัวเข้ากับโครงสร้างที่จะไม่มีคุณอีกต่อไป หรือระหว่างหาคนใหม่ โดยในช่วงนี้สิ่งที่คุณทำได้คือการเตรียมแผนงานหรือ Handover ที่มีรายละเอียดครบถ้วนสมบูรณ์ให้กับแผนกและฝ่ายบุคคล ในวันที่คุณออกไปจะได้ไม่เกิดการติดขัดอะไรก็ตาม
6 เสนอเทรนคนใหม่ที่จะมาแทน
นอกจากเรื่องของการให้เวลาทีมปรับตัว การเสนอว่าจะช่วยเทรนคนใหม่ที่เข้ามาแทนคุณนั้นเป็นการช่วยแบ่งเบาทีมและหัวหน้างานของคุณ คนใหม่อาจจะเข้ามาในช่วงที่คุณยังทำงานอยู่ หรือถ้าหากคุณออกไปแล้ว การทิ้งอีเมล์ส่วนตัวไว้ พร้อมกับลิสต์งานสำคัญๆต่างๆ และข้อความที่ว่ายินดีให้ติดต่อมาหาได้ในช่วง On-Boarding คงทำให้ทีมของคุณและคนใหม่สบายใจไม่มากก็น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมว่าคุณเองก็ต้องยุ่งกับการปรับตัวเข้ากับงานใหม่ จงช่วยในลิมิตที่สมเหตุสมผล อย่าถึงขนาดที่ว่า... เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด!